การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) “สะพาน” เชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุขให้ชุมชน





การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) “สะพาน” เชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุขให้ชุมชน

           การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น (The local food movement) มีนัยสำคัญเพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรหรือผู้ผลิตอาหารกับผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารที่สดใหม่และใกล้กับชุมชนซึ่งอาจจะผลิตโดยไม่ใช้และ/หรืออาจใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม ประการสำคัญยังสร้างความเป็นชุมชน โดยใช้ “อาหารท้องถิ่น” เป็นสะพานเชื่อมโยงภาวะอยู่ดีมีสุข (Well-being) ให้สมาชิกในชุมชน

           ปัจจุบัน เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ชุมชนนำอาหารท้องถิ่นมาขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ อาทิ จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร (Farm to table) , สวนในเมือง (Urban gardening) ที่สื่อถึงการสร้างสวนในเมืองโดยตรงและสื่อถึงการปันพื้นที่ที่ไม่ใช้ประโยชน์มาสร้างเป็นแหล่งอาหารของชุมชน, ตลาดอาหารท้องถิ่น, การผลิตอาหารของเกษตรกรป้อนสู่โรงเรียนและโรงพยาบาลท้องถิ่น และการเกิดขึ้นของเว็บไซต์อาหารท้องถิ่นเพื่อให้ลูกค้าเชื่อมต่อกับผู้ปลูกอาหารในท้องถิ่นจนเกิดกระแสนิยมบริโภคอาหารท้องถิ่นหรือ “Locavores” เป็นต้น

           บทความนี้เป็นการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการทางความคิดการเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่น การให้นิยามและคุณูปการสำคัญของการขับเคลื่อนของอาหารท้องถิ่นดังกล่าว

-1-

           การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทางการเกษตรทำให้ได้ผลผลิตปริมาณมากในช่วงศตวรรษที่ 20 ประกอบกับเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ทำให้ภาครัฐดำเนินนโยบายการเพิ่มเงินอุดหนุนเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าว แต่ผลลัพธ์สุดท้าย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารกลับได้รับประโยชน์ในการกว้านซื้อผลผลิตราคาเกษตรที่ตกต่ำแล้วนำแปรรูปและบรรจุหีบห่อก่อนนำไปขายแก่ผู้บริโภคในราคาที่สูง (Francis, 2010)

           นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา 2 ประการ กล่าวคือ 1) ผู้บริโภคเกิดความคิดที่จะไม่ซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพราะมองว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทขนาดใหญ่ด้านธุรกิจอาหาร และ 2) เกษตรกรท้องถิ่นขายผลิตผลให้กับผู้บริโภคโดยตรง เช่น สหกรณ์อาหารของชุมชนและตลาดชุมชน เป็นต้น (Hooper, 2021)

           จนกระทั่งช่วงรอยต่อทศศตวรรษที่ 1990 กระแสวัฒนธรรมนิยม (Pop culture) ได้ผสานเข้ากับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา มีการถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาผ่าน “สื่อ” ต่าง ๆ ถือเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้อาหารท้องถิ่นกลายเป็นกระแสใน “สหรัฐอเมริกา” และ “โลก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบริโภคอาหารท้องถิ่นที่ทำให้เกิด “ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน” นับจากต้นน้ำผู้ผลิต กลางน้ำผู้ขาย สู่ปลายน้ำผู้บริโภค และหลังจากนั้น การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นก็ได้รับความนิยมสืบเนื่องมา (Robinson and Farmer, 2017)

           ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นมีเป้าหมายสำคัญเพื่อ 1) เชื่อมโยงผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคในภูมิภาคเดียวกัน 2) พัฒนาเครือข่ายอาหารท้องถิ่น (Local food network) ที่สามารถพึ่งพาตนเองและเกิดศักยภาพในการปรับตัวเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงวิกฤตที่คาดไม่ถึง เช่น โรคระบาดและภัยพิบัติ เป็นต้น และ 3) ส่งเสริมภาวะอยู่ดีมีสุขของสมาชิกในชุมชนในมิติต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม (Stancliff, 2022)

           กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวอาหารท้องถิ่นเป็นความพยายามร่วมกันของผู้ผลิตและผู้บริโภคเพื่อยกระดับการผลิตและการจัดจำหน่ายอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญเรื่องระยะห่างระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคและรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับชุมชนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อ่านบทความฉบับเต็ม

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คุณยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ หรืออ่านนโยบายสิทธิส่วนบุคคล อ่านนโยบายการใช้คุกกี้ คุณยินยอมให้เราเก็บข้อมูลผ่านคุกกี้
ChatBot cancel

สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?

ChatBot cancel
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?
powered by Eventpass

ธัชชา มีสถานะเป็นหน่วยงานภายในระดับกองของสำนักปลัดกระทรวง อว. ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

© 2021 TASSHA, Office of the Permanant Secretary , Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.

แอปพลิเคชั่นทั้งหมดของกระทรวง อว.

ติดตาม "ธัชชา" ได้ที่