บทความ ว่าด้วยหนังสือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย ฉบับมาตรฐาน
“ประวัติศาสตร์แห่งชาติ” (National History) ถือเป็นอุปกรณ์แห่งการธำรงและป้องกันไว้ซึ่งมายาภาพแห่งประชาชาติ (Nation) ที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมา มายาภาพนั้นคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของความเป็นมา เรื่องราว และเป้าหมายของประชาชาติที่มีความสืบเนื่องเป็นดั่งสายโซ่คล้องกันและร้อยรัดผ่านกาละ โดยการใช้แม่แบบเชิงอันตวิทยาแบบเส้นตรงของประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุครุ่งเรืองทางปัญญา (the linear, teleological model of Enlightenment History) ในการสร้างความเป็นรูปธรรม/ตัวตนให้แก่ตนเอง (Duara, 1995, p. 4)
กระนั้น การธำรงและป้องกันไว้ซึ่งมายาภาพแห่งประชาชาติด้วยประวัติศาสตร์นิพนธ์คงไร้ความหมายหากไร้ซึ่งรัฐประชาชาติ (Nation-State) ด้วยเป็นเทศะอันยังให้เกิดความเป็นรูปธรรม/ตัวตนแห่งมายาภาพดังกล่าว ในแง่หนึ่ง ประวัติศาสตร์แห่งชาติจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยบ่งชี้ความมีตัวตนและเครื่องมือที่ช่วยยืนยันความเก่าแก่ให้แก่รัฐประชาชาติ ด้วยเหตุนี้ สัมพันธภาพระหว่างประวัติศาสตร์แห่งชาติและรัฐประชาชาติจึงอยู่ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันและกัน ดังที่สมเกียรติ วันทะนะได้แถลงไว้อย่างหนักแน่นว่า
รัฐประชาชาติที่ขาดประวัติศาสตร์แห่งชาติก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน เหมือน “ผู้ดีใหม่” และเพราะเหตุนั้นก็จะไม่ได้รับการนับหน้าถือตาจากสมาคมของรัฐประชาชาติทั้งหลาย ประวัติศาสตร์แห่งชาติที่ขาดรัฐประชาชาติสนับสนุนเป็นพื้นฐานก็เปรียบเสมือนความฝันลม ๆ แล้ง ๆ ของผู้ลี้ภัยหรือชนกลุ่มน้อยที่ต้องอาศัยแผ่นดินเขาอยู่ และเพราะเหตุนี้ก็ย่อมไม่อาจก่อกระแสเป็นสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ทรงพลังแก่คนจำนวนมากได้เพราะไม่มีช่องทางแสดงออก (สมเกียรติ วันทะนะ, 2530, น. 74)
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?