"อว. ขับเคลื่อน ธัชชา-ธัชวิทย์" ผนึกกำลัง "ศิลป์-วิทย์"







"อว. ขับเคลื่อน ธัชชา-ธัชวิทย์" ผนึกกำลัง "ศิลป์-วิทย์" พิสูจน์ยืนยันประวัติศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยตั้งแล็บครบวงจรที่สุดในอาเซียน พร้อมวิเคราะห์ดีเอ็นเอโบราณ ไลดาร์จากโดรนและดาวเทียม ตรวจหาอายุและโครงสร้างโบราณวัตถุ


เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า กระทรวง อว. มีนโยบายหลักในการขับเคลื่อนวิทยาการโดยนำเอาศาสตร์และศิลป์มาบูรณาการกัน เป็น "ยุทธศาสตร์การเดินสองขา" เพื่อสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โดยได้จัดตั้ง "ธัชชา" และ "ธัชวิทย์" ซึ่งเป็นวิทยสถานทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และวิทยสถานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดได้สนับสนุนให้ประเทศไทยมีความพร้อมและขีดความสามารถในการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและวิชาการด้านโบราณคดีในยุคสุวรรณภูมิหรือกว่า 2,500 ปี ที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดในอาเซียน


ด้าน ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ธัชชา ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยของ อว. และมหาวิทยาลัยต่างๆ ศึกษาจุดแข็งของประเทศไทยซึ่งมีโบราณสถานและโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์โดยต้องส่งไปตรวจในต่างประเทศ มีราคาแพงและที่สำคัญใช้เวลาตรวจวิเคราะห์นานมาก หากสามารถนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีเครื่องมืออยู่แล้วจำนวนหนึ่งมาประยุกต์ใช้กับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ก็จะสามารถวิเคราะห์ถึงรายละเอียดโครงสร้างทางเคมี องค์ประกอบของวัสดุ ทราบอายุของโบราณวัตถุต่างๆ ว่ามีอายุกี่ปีอย่างแม่นยำ รวมทั้งสามารถจะนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอชั้นสูงมาใช้ในการศึกษาทางพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ สัตว์หรือพืชโบราณได้ ในส่วนของโบราณสถานซึ่งบางส่วนได้ผุพังลง ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้หรือทับถมกัน ก็สามารถที่จะนำเอาเทคโนโลยีการสำรวจจากระดับสูง เช่น วิธีไลดาร์โดยใช้โดรน รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมมาประกอบกันได้ ซึ่งห้องปฏิบัติการหรือโครงสร้างทางด้านวิทยาศาสตร์เหล่านี้ หน่วยงานวิจัยของประเทศไทยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีอยู่แล้ว กระทรวง อว. โดยธัชชา-ธัชวิทย์ สามารถที่จะจัดกลุ่มรวบรวมห้องแล็บและสนับสนุนเพิ่มเติมได้ ให้นำเอาเข้ามาใช้ในการสนับสนุนการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้อย่างดี ทำให้วิเคราะห์ได้ในประเทศอย่างรวดเร็วและแม่นยำ


"วิทยาการต่างๆ เหล่านี้ เรามีความก้าวหน้าในระดับนำของภูมิภาคอาเซียนและของทวีปเอเชีย ซึ่งการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และประวัติศาสตร์ มาประกอบกันนี้โดยการสนับสนุนของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาของธัชชา เป็นมุมมองใหม่ทางด้านวิชาการ โดยที่ผ่านมานั้นนักวิชาการด้านวิทย์และศิลป์สองฝ่ายจะทำงานแยกกัน การที่ อว. นำเอานักวิจัยทางสายวิทย์และศิลป์มาทำงานร่วมกันนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก จะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ อ้างอิงได้ในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี" ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว






ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ทีมนักวิชาการทางด้านโบราณคดี และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ไปร่วมกันปฎิบัติงานสำรวจในพื้นที่ที่เวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของภาคเหนือ มีอายุประมาณ 1,100 ปี ได้ทำงานในสถานที่จริง หลังจากนั้นได้ประชุมหารือทางวิชาการเพื่อกำหนดรายละเอียดและการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเบื้องต้นได้มุ่งใน 3 เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ 1) การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างทางกายภาพของโบราณสถานที่ถูกปกคลุม 2) เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ และ 3) เทคโนโลยีขั้นสูงในการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณ (Dating) ประกอบกับการรวบรวมจัดทำชุดฐานข้อมูลพันธุกรรมและข้อมูลของวัตถุโบราณเพื่อการตรวจเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องแม่นยำมาก และสามารถทำได้อย่างครบวงจรที่สุดในอาเซียน








โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) ของกระทรวง อว. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ของ อว. เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ดำเนินจัดกลุ่ม รวบรวมและเพิ่มความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชั้นสูงและสนับสนุนการค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะใน 3 มิติสำคัญดังกล่าวนี้ ผลที่ได้จะทำให้เกิดการพิสูจน์ยืนยันข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องในทางวิชาการ และนำไปสู่การขยายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่กำลังเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และพัฒนาบุคลากรวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์โบราณคดีให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อยอดการรักษามรดกอันล้ำค่าของประเทศให้ดำรงคงอยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบไป



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น คุณยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์ หรืออ่านนโยบายสิทธิส่วนบุคคล อ่านนโยบายการใช้คุกกี้ คุณยินยอมให้เราเก็บข้อมูลผ่านคุกกี้
ChatBot cancel

สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?

ChatBot cancel
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?
powered by Eventpass

ธัชชา มีสถานะเป็นหน่วยงานภายในระดับกองของสำนักปลัดกระทรวง อว. ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

© 2021 TASSHA, Office of the Permanant Secretary , Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.

แอปพลิเคชั่นทั้งหมดของกระทรวง อว.

ติดตาม "ธัชชา" ได้ที่