อว. “สืบสานงานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power” ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การสร้างคุณค่าและรายได้
อว. “สืบสานงานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power” ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การสร้างคุณค่าและรายได้
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. พร้อมด้วย น.ส. สุชาดา แทนทรัพย์ เลขา รมว.อว. และผู้บริหารกระทรวง อว. ได้เข้าชมนิทรรศการงาน "สืบสานงานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power" ที่จัดโดย วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) โดยสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำหรับกิจกรรมในงานนอกจากนิทรรศการแล้ว ยังมีการเสวนาในหัวข้อ "อว.ช่วยช่างศิลป์ไทยให้ยั่งยืนอย่างไร" เพื่อฟังมุมมองของนักวิชาการด้านการจัดการวัฒนธรรม การออกแบบ วิทยาศาสตร์ และนักธุรกิจส่งออก โดย นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจากวิทยากร ได้แก่ ผศ.ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ศ.ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ รองคณบดี คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.กรกต อารมย์ดี ศิลปินศิลปาธรและนักธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ KORAKOT และ ดร.สิริกร มณีรินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น
โดย นายวันนี กล่าวว่า งานวันนี้เป็นการต่อยอดผลงานวิจัย ในประเด็นการสืบสานงานช่างศิลป์ สู่ผลิตภัณฑ์ Soft Power นอกจากเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านการจัดการวัฒนธรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับนักธุรกิจส่งออก เพื่อช่วยสืบสานต่อยอดผลิตภัณฑ์ช่างศิลป์ท้องถิ่น ตามนโยบาย Soft Power ของประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจ พร้อมกระตุ้นให้เรารู้สึกนิยมในชาติ และรู้ว่าเรามีคุณค่าต่อวัฒนธรรมของโลก สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งจนนำไปสู่การสร้างรายได้และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน น.ส.ฉัตต์ธิดา ผอ.ธัชชา กล่าวว่า การจัดเสวนาและแสดงผลงานการวิจัยครั้งนี้ เป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ ต่อยอดองค์ความรู้ สู่การสร้างคุณค่าและสร้างรายได้ ซึ่งสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น เป็น 1 ใน 5 ของสถาบันภายใต้ "ธัชชา" มุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อรักษารากฐานของช่างศิลป์ท้องถิ่นให้สามารถสืบสานเป็นอาชีพ ก่อเกิดรายได้ของชุมชนและท้องถิ่นด้วยความภาคภูมิใจ
ในงานนี้ ดร.สิริกร ผอ.สถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น ยังกล่าวถึง การนำเสนอและเผยแพร่ผลงานครั้งนี้ ว่าได้ต่อยอดจากผลงานวิจัยมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จึงได้นำมาจัดแสดงเพื่อให้ได้ชมและซื้อผลิตภัณฑ์ อันได้แก่ สุดยอดงานจักสานไทย จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร และ จังหวัดตราด สัมผัสเสน่ห์ผ้าไทยจากจังหวัดที่มีวัฒนธรรมทอผ้าไหมซึ่งนานหลายร้อยปี อัตลักษณ์อ่อนหวานแบบ บัวลุ่มภู จากจังหวัดหนองบัวลำภู ความวิจิตรของผ้าไหมยกทองต้นแบบ “ไตรภูมิภูษา” รวมลายอัตลักษณ์สุรินทร์ 17 อำเภอ บนผืนเดียว พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนช่างศิลป์ท้องถิ่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริหารและหน่วยงานเครือข่ายที่จะช่วยพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่อไปอีกด้วย
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?