รมว.อว ลงพื้นที่จังหวัดน่าน ตรวจเยี่ยมโครงการ U2T นำทีมธัชชาต่อยอดศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ทัศนียภาพ
28 มกราคม 2565 ณ จังหวัดน่าน / ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ อําเภอปัว ชมหลากหลายสีสันจากศรัทธาของชาวไทลื้อ ซึ่งถูกพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัยประยุกต์กับสถาปัตยกรรมเก่า กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนไทลื้อที่น่าสนใจ ที่แสดงถึง "วัฒนธรรมประเพณีและสถาปัตยกรรมไหลื้อ" และตรวจเยี่ยมนิทรรศการการดําเนินงาน U2T ตําบล วรนคร วิทยาลัยชุมชนน่าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและความก้าวหน้าของแต่ละโครงการ อาทิ โครงการชุดวิจัย"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ
อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน" การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก "เกลือสีชมพู" โครงการชุดวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก "หญ้าสามเหลี่ยม" การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจาก "ลูกชิด (ต๋าว)" เป็นต้น โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และคณะ ร่วมลงพื้นที่ ณ วัดร้องแง ตําบลวรนคร อําเภอปัว จังหวัดน่าน
เวลาประมาณ 20.00 น. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก รมว.อว. กล่าวให้คำแนะนำและปิดเสวนาวิชาการ “ระเบียงเศรษฐกิจล้านนาตะวันออก จากอดีตสู่ ปัจจุบัน” ณ ลานข้าวนาบุญ แสงทองรีสอร์ท ว่า ผมมาที่น่านเป็นวันที่ 2 แล้ว วันนี้ก็ได้ฟังเสวนาวิชาการที่มีประโยชน์มาก นอกจากจะได้แง่คิด ได้ความรู้ ได้อิ่มเอมกับบรรยากาศที่ดี มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ผม อยากให้จังหวัดน่านเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอีก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับจังหวัดน่าน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ น่านจะต้องพึ่งตัวเอง น่านเป็นจังหวัดพิเศษที่ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ จากเดิมซึ่งเป็นเพียงทางผ่านไปหลวงพระบางแต่ตอนนี้ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสถาปัตยกรรมโบราณของน่าน ทำให้น่านกลายเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้หลวงพระบาง น่านเหมือนจังหวัดที่พัฒนาแล้ว ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตดำเนินไปด้วยกันหมด อดีตที่รักษาไว้ได้เพราะว่าปัจจุบันมันดี ปัจจุบันก็ไม่ได้ต่อยอดจากอดีตเท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นฐานที่จะไปสู่อนาคต เปรียบเสมือนประเทศที่พัฒนาแล้วและอดีตที่งดงามทั้งด้านทรัพยกรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ทัศนียภาพ สถาปัตยกรรมของน่าน จะเป็นอนาคตของน่านและจะเป็นอนาคตของประเทศและอนาคตของโลกสืบต่อไป การอนุรักษ์อดีตของน่าน จะทำให้ประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ร่ำรวย อันนี้เป็นจุดแข็งที่สำคัญอย่างมากของจังหวัดน่าน
รมว.อว. กล่าวต่อไป ผมคิดว่าอย่ามองอุดมศึกษาเป็นเพียงเรื่องทางการเกินไป อุดมศึกษามีรากฐานมาจากชุมชน เกิดจากชุมชนสร้างขึ้นมาส่วนหนึ่ง ผมอยากให้คนน่านสนใจอุดมศึกษามากขึ้น ถ้าพูดถึงโลกแล้ว กระแสที่จังหวัดน่านในขณะนี้จะไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ อันนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่โลกาภิวัตน์ปัจจุบันเป็นโลกาภิวัตน์ที่ผสมระหว่างตะวันออกและตะวันตก เราต้องทำให้จังหวัดน่านเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ผสมกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ น่าจะเป็นคำตอบและเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญจะต้องสร้าง mind set ของคนจังหวัดน่านให้คนเข้มแข็งขึ้นเป็นพิเศษ ผมอยากให้คำแนะนำอีกอย่างหนึ่งว่า ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูงที่มาจากจีนมันจะไปเข้าที่อุดร หนองคาย และเข้ามาที่ประเทศไทย ผมคิดว่าชาวจังหวัดน่านควรจะเสนอรณรงค์ให้ทำรถไฟความเร็วสูงที่ออกจากหลวงพระบางแล้วตัดเข้ามาที่น่าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปรอที่อุดร ซึ่งจะกลายเป็นเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ แต่หากจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ชาวจังหวัดน่านต้องการหรือเปล่าเรียกร้องหรือเปล่า รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและอีกเรื่องหนึ่งเรื่องป่าที่มี 90% ที่เต็มไปด้วยสีเขียวสวยงามและมีความธรรมชาติมาก แต่บางส่วนเป็นเขาหัวโล้นอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนจังหวัดน่านจะต้องช่วยกันคิดว่าจะต้องทำอย่างไรให้เกิดเป็นวาระที่สำคัญซึ่งควรลดการปลูกข้าวโพดให้น้อยลง เพื่อทำให้จังหวัดน่านอนุรักษ์ไว้ซึ่ง ความเป็นธรรมชาติที่สวยงาม การที่ธัชชามาจัดงานที่นี้ เป็นความร่วมมือกันของหน่วยงาน อว. และจังหวัดน่าน ที่จะคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม ผสมผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้น่านกลายเป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไป
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?