ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ณ จ. สุโขทัย
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 สำนักงานบริหารวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สบว.) ได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง “ตลาดชุมชนฟาร์มกวางตามแบบเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ฟาร์มกวางมหาวิทยาลัยรามคำแหง สถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน จังหวัดสุโขทัย ซึ่งภายในงานจะมีการให้ความรู้กับกลุ่มนักเรียนและผู้เข้าชมตลาดชุมชนฟาร์มกวาง โดยทาง รศ.ดร.มณี อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายถึงการดำเนินการโครงการ “ตลาดชุมชนฟาร์มกวางตามแบบเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่เริ่มต้นทำฟาร์มกวางในปี พ.ศ. 2545 มาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 21 ปี จากการนำเข้าสายพันธุ์กวางจำนวน 2 สายพันธุ์ คือ รูซ่า และ ซิก้า มาทำการวิจัยเกี่ยวกับเขากวางอ่อน เพื่อให้ผลิตเป็นยาบำรุงร่างกาย นอกจากเขากวางอ่อนที่นำมาทำเป็นยาบำรุงร่างกายแล้ว เขากวางชนิดแข็ง ยังสามารถนำมาแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ และนำมาทำเป็นเครื่องประดับ รวมทั้งการนำมาทำเป็นด้ามมีด ด้ามกริช ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้สำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ยังสามารถนำมาใช้ทดแทนงาช้างซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองได้อีกด้วยเพราะมีความแข็งมากกว่างาช้าง นอกจากเขากวางยังได้มีการให้ความรู้ถึงมูลกวางที่นำมาใช้ในการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลไส้เดือนมาทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย โดยภายในตลาดชุมชนฟาร์มกวาง ได้มีการให้ชาวบ้านภายในพื้นที่ ที่มีการผลิตสินค้าตามภูมิปัญญาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เข้ามาสาธิต และจำหน่ายให้กับผู้เข้าร่วมงาน
ซึ่งในโอกาสนี้ ผอ.ฉัตต์ธิดา บุญโต ผอ.สบว. ได้เป็นวิทยากรร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และการเสวนาเชิงวิชาการสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “วิถีชีวิตชุมชนสุโขทัยกับเศรษฐกิจแบบ BCG”พร้อมทั้งผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และชาวบ้านที่ผันตัวกลับมาทำธุรกิจสร้างรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ในจังหวัดบ้านเกิด โดยมี ผศ.พรชัย วงศ์วาสนา หัวหน้าโครงการงานวิจัย เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา ให้ได้รับรู้ถึงการพัฒนาชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนการนำหลักการ BCG เข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?