รมว.อว. ตั้งธงแซนด์บ๊อกซ์วิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ แนะปั้นช้างเผือกในป่าลึกให้เป็นอีลิทใหม่ในสังคม
รมว.อว. ตั้งธงเตรียมจัดตั้งวิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Science) ดำเนินงานในลักษณะแซนด์บ๊อกซ์ มุ่งยกระดับการผลิตนักวิจัยในศาสตร์ต่างๆ โดยที่อยากเห็นมากที่สุดคือ BCG ซึ่งเป็นโมเดลสากล และให้มองการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้ลดช่องว่างและเข้าสู่ยุค 4.0 ได้ รวมทั้งแนะปั้นช้างเผือกในป่าลึกให้เป็นอีลิทใหม่ในสังคมไทยที่สามารถขยับฐานะทางสังคมให้ดีขึ้น ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมหารือแผน กรอบงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ และระบบบริหารจัดการทุน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2670 ณ ห้องประชุม อว. โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้บริหารและหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ต่างๆ ร่วมหารือ รมว.อว. กล่าวว่า PMU มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้เลือกงานวิจัยที่จะให้ทุนและสนับสนุนการวิจัย หลายสิบปีที่ตนอยู่ในอุดมศึกษาและเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการทำงานจากระดับล่างขึ้นบน ระยะแรกที่พัฒนา ววน. ต้องสร้างความพร้อมและความลุ่มลึกแก่นักวิจัยในแต่ละศาสตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีความพร้อมเกือบทุกศาสตร์แล้วจึงต้องนำงานวิจัยและนวัตกรรมในศาสตร์ต่างๆ ไปพัฒนาบ้านเมืองตามทิศทางที่ต้องการ หัวใจคือ ในปี 2580 ไทยต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ ดังนั้นแต่ละ PMU ต้องรับไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย นอกจากนี้ อว. ยังได้ทำแผนอุดมศึกษา และแผน ววน. ซึ่งผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปแล้ว ตอกย้ำว่าภายในปี 2570 อว. จะต้องเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ เรามีเวลาเหลืออีกเพียง 6 ปีจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเริ่มขยับ ทั้งนี้ อว. ตื่นตัวกันมากขึ้นที่จะนำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ ไม่ขึ้นหิ้งหรือเป็นเพียงการงานวิชาชีพ การที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นต้องขึ้นอยู่กับความสุจริตในการทำงาน และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะต้องหารือกับ PMU เป็นระยะ และปรับธงให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล เช่น ประเทศพัฒนาแล้ว BCG อุตสาหกรรม 4.0 และ EEC ส่วน รมว.อว. นั้น ตั้งธงจะทำวิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Science) ซึ่งเราจะต้องมีเวทีนำเสนอผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติและเรียนรู้ไปด้วยกัน การรวมสถาบันที่เกี่ยวข้องกับ ววน. ทำให้ชุมชนทางวิทยาศาสตร์ของเราไม่ได้หมายความถึง PMU หน่วยงานวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย “วิทยสถานทางวิทยาศาสตร์อาจจะเปิดสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เรียนทฤษฎีแบบไม่เป็นทางการ และสามารถกำหนดศาสตร์ที่ไม่ได้เปิดสอนในมหาวิทยาลัยมากนัก เช่น เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะดำเนินการในรูปแบบแซนด์บ๊อกซ์และให้ปริญญาบัตรได้ ภายใต้ความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือสถาบันวิจัยต่างๆ ศาสตร์ที่อยากเห็นมากที่สุด คือ วิชา BCG จากประสบการณ์ในการทำงานและยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป็นโมเดลสากลด้วย หรือวิชาเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ถอดบทเรียนจากความสำเร็จออกมาเป็นทฤษฎี ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบทฤษฎีต่างประเทศ แต่จะต้องยกระดับเรื่องต่างๆ ของไทยที่เราเก่ง ส่วนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ให้ธัชชาเป็นผู้คิดว่าจะวิจัยเรื่องใดบ้าง เราพร้อมที่จะทำ Metaverse หรือเทคโนโลยีควอนตัมได้หรือยัง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้เราสามารถลดช่องว่างและเข้าสู่ยุค 4.0 ได้”
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง |
สวัสดีฉันคือแชทบอทจาก
ธัชชา ฉันสามารถช่วยอะไรได้บ้าง?